เด็ก เยาวชน พลเมือง

เด็ก เยาวชน พลเมือง

โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, พจนา อาภานุรักษ์
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลายคนคงทราบดีว่าวันเด็กเป็นวันที่ถูกกำหนดขึ้นให้ตรงกับวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม โดยเริ่มมีการจัดกิจกรรมครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ซึ่งตรงกับปีที่ทั่วโลกจัดให้มีการเฉลิมฉลองให้กับเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หลังจากมีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยหน้าที่ของเด็ก โดยนาย วี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ สำหรับในประทศไทยแต่เดิมวันเด็กนั้นตรงกับวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม แต่เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศที่ยังคงมีฝนตกอยู่ในฤดูกาลดังกล่าว คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงมีมติให้เปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมในปี พ.ศ. 2508

“เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย” คือคำขวัญวันเด็กประจำปี 2563 ที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ให้ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชน คำขวัญวันเด็กคือชุดคำหนึ่งที่สะท้อนถึงวิธีคิดและมุมมองของผู้นำประเทศในขณะนั้น เชื่อมโยงกับสภาพบริบทสังคม และการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในยุคต่าง ๆ จากการรวบรวมคำขวัญวันเด็กตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 ถึงปัจจุบัน พบว่า 5 อันดับแรกของคำหรือวลีที่นิยมหยิบยกมาเป็นคำขวัญวันเด็ก คือ อันดับที่ 1 “มีวินัย” (12 ครั้ง) อันดับที่ 2 “คุณธรรม” (11 ครั้ง) อันดับที่ 3 “ขยัน สามัคคี” (10 ครั้ง) อันดับที่ 4 “ประหยัด” (6 ครั้ง) และอันดับที่ 5 “รักชาติ รู้หน้าที่” (4 ครั้ง)

แต่ละยุคสมัยต้องการพัฒนากำลังคนแตกต่างกัน จึงเป็นที่มาว่าเมื่อโลกได้เข้าสู่ถานการณ์สำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม แนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองและการทหาร ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ต่างก็มีส่วนกำหนดคุณลักษณะ (characteristic) ของเด็กและเยาวชนในยุคสมัยนั้น ๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ซ่อนอยู่ไหนคำขวัญวันเด็กคือวิธีคิดเชิงอุดมการณ์ชาตินิยมที่มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองของประเทศตามความมุ่งหมายของรัฐ แนวคิดเรื่องการพัฒนาความเป็นพลเมือง (citizenship) นั้นมีนักวิชาการต่างประเทศและนักวิชาการไทยได้ให้นิยาม ความหมาย และคุณลักษณะของพลเมืองไว้โดยเชื่อมโยงกับระบบโครงสร้างทางสังคม การเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น ในรายงานการประชุมวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า ได้ให้คำอธิบายของพลเมืองไทยไว้ว่า “พลเมืองไทย ในอดีตที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากการกล่อมเกลาคนไทยให้อยู่ในวิถีไทย ระบบการศึกษาที่เป็นทางการ และการสอนความรู้ต่าง ๆ ผ่านสื่อมวลชนหลายแขนง เช่น ศีลธรรมไทย วรรณคดีไทย ศิลปะไทย มารยาทไทย ทำให้พลเมืองไทยยอมรับการแบ่งชนชั้นทางสังคม และยอมรับการปกครองที่ให้ความสำคัญแก่ผู้ปกครองที่เป็นคนดีมีความสามารถ โดยพลเมืองไทยที่ดีต้องเชื่อฟังและทำหน้าที่ของพลเมืองอย่างดีที่สุดด้วยความเสียสละและความสามัคคีโดยไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของผู้ปกครอง” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคำว่าพลเมืองไทยนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบสังคม การเมือง การปกครอง ที่ครอบชุดคำอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของสังคมไว้ คำถามสำคัญคือ เด็กและเยาวชนอยู่ตรงไหนของชุดคำอธิบายคำว่าพลเมืองไทยเหล่านี้ ? หรือในต่างประเทศมีนักวิชาการที่ให้คุณลักษณะของพลเมืองไว้หลากหลายระดับ เช่น แนวคิดเรื่องพลเมือง 3 แบบ ของ Joel Westheimer ที่มองว่าระดับของพลเมืองนั้นสามารถมีได้ตั้งแต่พลเมืองรับผิดชอบ ที่มุ่งเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อตนเอง ตั้งใจทำงานจ่ายภาษี ปฏิบัติตามกฎหมาย มีจิตอาสา พลเมืองมีส่วนร่วม คือ พลเมืองที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร จัดการชุมชนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เข้าใจกระบวนการทำงานของรัฐ และพลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมที่สามารถคิดเชิงวิพากษ์โครงสร้างของสังคม นโยบาย และเศรษฐกิจ สืบค้นหาความจริงและนำเสนอความคิดที่สะท้อนความไม่เป็นธรรมต่อสังคม สนใจความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงระบบที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่ามีช่องว่างในการให้คำอธิบายถึงความเป็นพลเมืองของไทยกับสากลอยู่ค่อนข้างกว้างมากอยู่พอสมควร

เมื่อเรากล่าวถึงคำขวัญวันเด็กในปีนี้ที่ว่า เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทยไม่แตกต่างอะไรมากนักกับเพลงหน้าที่ของเด็กที่รู้จักกันในนามเพลงเด็กเอ๋ย เด็กดี หรือค่านิยม 12 ประการที่บอกให้เด็กต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ตามความคิดของผู้ใหญ่ นายกรัฐมนตรีเองก็ได้ให้นิยามคำวาพลเมืองไทยไว้ว่า “พลเมืองไทยคือพวกเราที่เป็นพลเมืองของประเทศไทย และการรู้รักสามัคคีและความดีสำคัญที่สุด” และยังได้กล่าวอีกว่า “การเป็นเด็กดีเคารพผู้ใหญ่ และกตัญญู เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญมารยาทในสังคม การใช้คำพูดคำจาและการเชื่อฟังผู้ใหญ่หากสิ่งใดที่ถูกก็อย่าไปโต้เถียงและอย่าไปคึกคะนอง”

จากชุดคำที่ผู้ใหญ่ล้วนประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออธิบายความเป็นเด็ก ทางศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว จึงสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 7-24 ปี เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการสร้างคำอธิบายเพื่อบ่งบอกความเป็นวันเด็กในรูปแบบของตนเอง โดยสอบถามใน 6 ประเด็นสำคัญ คือ เด็กไทยยุคใหม่ มีลักษณะแบบไหน ในมุมมองของท่านคำว่า “รู้รักสามัคคี” หมายถึงอะไร “พลเมืองดี” หมายความว่าอย่างไร “พลเมืองดี” ต้องมีพฤติกรรมอย่างไร พลเมืองไทย มีหน้าที่อะไรบ้าง และให้ลองยกตัวอย่างพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นพลเมืองไทย

เป็นที่น่าสนใจว่าคำซ้ำที่ปรากฏเป็นคำอธิบายสำหรับคุณลักษณะของเด็กไทยในมุมมองของเด็กและเยาวชนนั้น คือ คำว่า กล้าไม่ว่าจะเป็นกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดงออก ในขณะที่คำว่ารู้รักสามัคคีสำหรับเด็กและเยาวชน หมายถึง การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งการช่วยเหลือผู้ที่มีความเดือดร้อน การช่วยเหลือสังคม การช่วยเหลือเพื่อนในภาวะยากลำบาก สำหรับคำว่าพลเมืองดี ส่วนใหญ่มองคาบเกี่ยวกับความเป็นคนดีของสังคม ไม่สร้างความเดือดร้อน สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม และเมื่อกล่าวถึงพลเมืองไทย มองว่ามีหน้าที่คล้ายคลึงกันกับการเป็นพลเมืองดี คือ พลเมืองไทยมีหน้าที่มีน้ำใจ เป็นคนดี ช่วยเหลือสังคม และเมื่อให้ยกตัวอย่างพฤติกรรมของพลเมืองไทย คือ รักชาติ เคารพกฎหมาย และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่นิยามความเป็นพลเมืองและมองคุณลักษณะของพลเมืองดีและพลเมืองไทยโดยเชื่อมโยงกับเรื่องการให้คุณค่ากับการทำความดีเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี มีการแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจอยู่หลายประการที่สะท้อนในเห็นถึงการยึดถือคุณค่าประชาธิปไตย เช่น พลเมืองดีคือบุคคลหรือประชากรที่ตระหนักถึงความเป็นพลเมือง ของโลก กระทำสิ่งต่างๆมี่เป็นประโยชน์ และสร้างสรรค์ พลเมืองไทยมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกัน

แม้ว่าวันเด็กปีนี้จะไม่ได้แตกต่างจากวันเด็กของปีก่อน ๆ มากนัก แต่สิ่งหนึ่งคือการทำความเข้าใจในระดับสังคมถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็ก เยาวชน สู่ความเป็นพลเมือง การหาความหมายร่วมกันให้ชัดเจนว่าพลเมืองไทยตามที่เด็กและเยาวชนคิดกับพลเมืองไทยตามที่ผู้ใหญ่ต้องการควรมีหน้าตาอย่างไร อาจทำให้ได้ชุดคำอธิบายใหม่ว่าพลเมืองไทยอาจไม่ใช่แค่รักชาติ รู้หน้าที่ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่อาจจะหมายถึงการขยายวงกว้างของชุดวิธีคิดและการกระทำที่อยู่บนฐานของการเคารพผู้อื่น การให้ความสำคัญกับความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การเห็นอกเห็นใจกัน และการมีสำนึกร่วมถึงความเป็นชาติในแง่ที่เป็นผลทางบวกในการพัฒนาประเทศก็เป็นได้ ซึ่งคำอธิบายชุดใหม่นี้อาจจะต้องก้าวไปให้ไกลกว่าคำอธิบายชุดก่อน ๆ ที่ถูกผลิตซ้ำมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามแบบที่เคยอธิบายตาม ๆ กันมา

Related Blogs

Posted by editor | September 14, 2023
รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาจังหวัดราชบุรี
สงวนลิขสิทธิ์ / จัดทํา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ่านและดาวน์โหลด
Posted by editor | July 19, 2023
บทความวิจัย : คุณลักษณะและความต้องการที่หลากหลายของเด็กนอกระบบการศึกษาในประเทศไทย
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจคุณลักษณะของเด็กนอกระบบการศึกษา ตลอดจนวิเคราะห์ความต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงเป้าหมายด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของเด็กนอกระบบการศึกษา ตัวอย่างในการวิจัย คือ เด็กนอกระบบการศึกษาในประเทศไทย จำนวน 35,003 คน ผลการวิจัยพบว่า เด็กนอกระบบการศึกษาส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาในระดับต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่สาม ยิ่งไปกว่านั้นมีเด็กที่ไม่เคยได้รับการศึกษาร้อยละ 10 มีจำนวนสูงกว่าร้อยละ 50 ที่ไม่มี เอกสารแสดงตัวบุคคล ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กนอกระบบการศึกษาคือความยากจนของครอบครัว ผลการวิเคราะห์การสมนัยชี้ให้เห็นว่า เด็กนอกระบบการศึกษามีเป้าหมาย ด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพแตกต่างกันโดยแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจนทั้งด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ 2) กลุ่มที่ต้องการศึกษาต่อ และ 3) กลุ่มที่ ไม่ต้องการศึกษาต่อ...
Posted by editor | July 4, 2023
การจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบโรงเรียนสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา Organizing Non-formal Education Activities for Out-of-School Children
บทคัดย่อ เด็กนอกระบบการศึกษาเป็นเด็กที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาและไม่ได้รับสิทธิในด้านการศึกษา เช่น เด็กพิการในชุมชน เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เด็กไร้สัญชาติและลูกหลาน แรงงานต่างด้าว เด็กยากจนในชุมชน เด็กชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย และเด็กมุสลิมที่เป็นบุตรหลาน ของบุคคลที่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ของประเทศ และในพื้นที่ชายแดน ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ดังนั้นกิจกรรมการศึกษาควรเป็นกิจกรรม การศึกษานอกระบบโรงเรียนที่น่าจะมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับลักษณะและความต้องการจำเป็นของเด็กนอกระบบการศึกษา ทั้งความรู้ขั้นพื้นฐาน การพัฒนาทักษะชีวิต และการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยมีกระบวนการในการจัดกิจกรรม คือ การศึกษาธรรมชาติและลักษณะของเด็ก การวิเคราะห์ ความต้องการจำเป็นและความสนใจพื้นฐานในด้านการศึกษาหรือการเรียนรู้ของเด็ก การจัดกิจกรรม...