เกี่ยวกับเรา

``ฟังเสียงเด็กเป็น``

ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นหน่วยงานวิชาการที่ทำหน้าที่สังเคราะห์ รวบรวมองค์ความรู้และนวัตกรรม เชื่อมโยงสถานการณ์ แนวโน้มปัจจัยหนุนเสริมและปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการผลักดันองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สร้างกระบวนการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม สานพลังเครือข่ายในการขับเครลื่อนงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายของประเทศ

ย้อนกลับเมื่อปี พ.ศ. 2535 เป็นปีที่ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กลับจากการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะนั้นท่านมีความสนใจในเรื่องเด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส และเล็งเห็นปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ความยากจน การแบ่งชนชั้น ประกอบกับขณะเรียนได้ศึกษาเกี่ยวกับ Neo-Marxism Theory, Conflict Theory และ Ethnographic Study จึงได้ก่อตั้ง “ศูนย์เด็กด้อยโอกาส” ในสมัยศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์ มีการริเริ่มเขียนบทความแรกลงหนังสือพิมพ์มติชนชื่อเรื่อง “เรียนเพื่อเป็นกรรมกร” มีการทำงานร่วมกับนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ (ครูหยุย) มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และนายมนตรี สินทวิชัย (ครูยุ่น) ผู้ดูแลมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ศูนย์จึงเกิดการผลักดัน เกิดงานวิชาการ บทความ งานวิจัยที่สะท้อนปัญหาเด็กไทย และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ต่อมาในสมัยรองศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ เป็นคณบดี ได้เปลี่ยนชื่อศูนย์เด็กฯ ในพ.ศ. 2539 เป็น “ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านเด็กและเยาวชน” มีการขยายขอบเขตงาน ทำงานกับกลุ่มเด็กที่หลากหลาย ให้ความสำคัญด้านนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ มองนวัตกรรมที่เกิดขึ้น เริ่มทำงานกับองค์กร UNICEF ทำให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เกิดโครงการวิจัยที่สำคัญมากมาย เช่น แผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อน (2549) โครงการวิจัยศักยภาพท้องถิ่นในการพัฒนาและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (2550) ศูนย์ฯจึงกลายเป็นต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยอื่นอีกมากมายในเรื่องการทำงานด้านเด็กและเยาวชน

หลังจากนั้นในสมัยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี เป็นคณบดี ได้เปลี่ยนชื่อศูนย์เด็กฯ ในพ.ศ. 2551 เป็น “ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน” เกิดการทำงานแบบเครือข่าย ลงทำงานกับชุมชน พื้นที่ ท้องถิ่นเป็นหลัก เกิดภาคีที่สำคัญมากมาย อาทิ สสส. สกว. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และมูลนิธิต่าง ๆ เกิดโครงการวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ โครงการศึกษาพลังสุขภาวะของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย (2553) โครงการการสร้างความเป็นพลเมืองดีในสภาเด็กและเยาวชนระดับท้องถิ่น (2555) โครงการการพัฒนาสมรรถนะระบบที่ปรึกษาให้สภาเด็กและเยาวชนในประเทศไทย (2556) เป็นต้น จากการทำงานมาอย่างต่อเนื่องทำให้ได้รับบุคคลดีเด่นด้านเด็กและเยาวชน องค์การยูนิเซฟ ประจำปี พ.ศ. 2555 และสร้างชื่อเสียงตลอดจนเป็นที่ยอมรับจากองค์กรรัฐและเอกชนที่ขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น

สมัยรองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ ดำรงตำแหน่งคณบดี ได้เปลี่ยนชื่อศูนย์เด็กฯ ในพ.ศ. 2560 เป็น “ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว” ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนัก 4 สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีความลุ่มลึกและเชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งศูนย์ฯนี้ยังให้คำตอบแก่สังคม สร้าง Social movement นำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบาย รวมทั้งเป็นเครือข่ายที่สำคัญแก่องค์กรที่ขับเคลื่อนในประเทศ เกิดโครงการที่สำคัญ คือ โครงการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลสำเร็จ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (2558) โครงการการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนกับพลังชุมชน ท้องถิ่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชน (2559) โครงการการสังเคราะห์กระบวนการฝึกอบรมตามแนวคิด การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญผ่านโครงการโรงเรียนกรุงเทพมหานครสู่ความเป็นเลิศ (2560) โครงการการสังเคราะห์รูปแบบการจัดการเรียนรู้ชุมชนโดยใช้การวิจัยเป็นฐานเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาจากล่างสู่บน (2559 – จนถึงปัจจุบัน) รวมทั้งโครงการพัฒนาศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว (2560 – จนถึงปัจจุบัน) เป็นต้น

ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีประวัติศาสตร์รากฐานยาวนานกว่า 30 ปี มีปรัชญาองค์กรทำงานด้านวิชาการเพื่อเด็ก เยาวชน ครอบครัว เป็นสำคัญ ปราศจากอคติ ปลอดการเมือง และผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น สั่งสมงานวิชาการบทความกว่า 400 เรื่อง งานวิจัยด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว การศึกษาไทย 15 เรื่อง หนังสือ 11 เล่ม มีการจัดเสวนาทางวิชาการปีละ 2 – 3 ครั้ง มีเครือข่ายกัลยาณมิตรทั้งภาครัฐ ประชาสังคม และองค์กรเอกชนที่ทำงานเชิงบูรณาการพื้นที่อย่างเป็นระบบ ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนทุกแขนงจนเกิดการขับเคลื่อนทางสังคมอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย นโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ด้านนี้มาโดยตลอด

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา

หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

ที่ปรึกษาหน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน

ผศ.ดร.กีรติ คุวสานนท์

หัวหน้าฝ่ายการศึกษาในระบบโรงเรียน

ดร.สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน

หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนวิชาการและการวิจัย

นางสาวกมลวรรณ พลับจีน

นักวิชาการ

นางสาวชุติมา ชุมพงศ์

นักวิชาการ

นางสาวดานา โมหะหมัดรักษาผล

เจ้าหน้าที่บัญชีและการเงิน

นางสาวอรสุมน ศานติวงศ์สกุล

เจ้าหน้าที่สื่อสารสาธารณะ

นายศรัญย์ภทร แซ่หวอง

เจ้าหน้าที่สื่อสารสาธารณะ

สิ่งที่เราทำ

ชมรมอาสาของนักศึกษา

กิจกรรมค่ายหรือชมรมอาสาของนักศึกษา
ระดับมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

ดูแลเยาวชนให้ตรงจุด

เป็นที่มาของการกระชับช่องว่าง
ระหว่างวัยควบคู่ไปกับการดูแลเด็ก
และเยาวชนในชุมชนในปลอดภัยจากยาเสพติด

ลงพื้นที่แต่ละภูมิภาค

ข้อมูลที่อาจจะช่วยพาพ่อแม่ให้เข้าใจพฤติกรรมการใช้สื่อของลูก เพื่อช่วยดูแลลูกให้ใช้สื่อได้อย่างปลอดภัย

บำบัดความทุกข์

ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสาร
เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว