ความสัมพันธ์ระหว่างประชากรต่างรุ่น : “ผู้สูงอายุ” กับการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ “เด็กนอกระบบการศึกษา”

ความสัมพันธ์ระหว่างประชากรต่างรุ่น : “ผู้สูงอายุ” กับการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ “เด็กนอกระบบการศึกษา”

บทบาทสำคัญของผู้สูงอายุอีกประการหนึ่งคือการส่งเสริมการเรียนรู้แก่ประชากรต่างรุ่น ได้แก่ วัยก่อนเรียน วัยเรียน และวัยทำงาน อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณากลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่เป็น “เด็กนอกระบบการศึกษา” แล้ว จะพบว่าเด็กนอกระบบนั้นส่วนมากแล้วจะเป็นวัยก่อนเรียน และวัยเรียน ดังนั้นบทบาทของผู้สูงอายุในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กลุ่มดังกล่าวสามารถกระทำได้ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  1. บทบาทของผู้สูงอายุในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่วัยก่อนเรียน

การส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่วัยก่อนเรียนของผู้สูงอายุ โดยส่วนมากแล้วจะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย โดยบทบาทของผู้สูงอายุมีดังนี้

  • เป็นแบบอย่าง / ตัวอย่างในการดำเนินชีวิต การเป็นเป็น หมายถึง ผู้สูงอายุแสดงให้เด็กเข้าใจ โดยใช้วิธีบอกหรือทำให้เห็นเป็นตัวอย่างเพื่อให้รู้ดีชั่วเป็นต้น เช่น การสอนให้รู้จักระเบียบวินัย รักษาความสะอาด วางสิ่งของให้เป็นที่เป็นทาง ฯลฯ
  • เป็นภูมิปัญญา ผู้สูงอายุในฐานะที่มีความรู้และประสบการณ์มาก่อน จะเป็นองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่สำหรับเด็ก การเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก รวมถึงการใช้ชีวิตในบ้าน จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้องและดีงาม ที่จะเป็นภาพจำให้กับเด็กในอนาคตข้างหน้าได้
  • เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นบทบาทสำคัญประการหนึ่งของผู้สูงอายุที่มีต่อเด็ก เนื่องจากผู้ปกครองอาจจะต้องไปทำงาน ซึ่งผู้ที่เลี้ยงดูเด็กส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ จึงทำให้ผู้สูงอายุและเด็กมีความผูกพันกัน และเด็กมีความรู้สึกว่าผู้สูงอายุคือผู้เป็นใหญ่ในบ้าน ที่ทุกคนจะต้องให้ความเคารพ อาจกล่าวได้ว่าผู้สูงอายุเป็นผู้ให้ความคุ้มครองช่วยเหลือ ผู้ให้ความอบอุ่นร่มเย็น
  • เป็นผู้ชี้แนะ ผู้สูงอายุเป็นผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนหรือตรงกับสำนวนที่ว่าเป็นผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน จึงเป็นผู้คาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ เวลาที่ลูกหลานจะทำอะไรก็มักจะรู้ได้อย่างอัตโนมัติ เช่น หลานจะเล่นเครื่องเล่นเด็ก ก็จะคอยบอกว่าตรงไหนอันตราย ตรงไหนห้ามเล่น ฯลฯ การชี้แนะยังหมายถึงการสอนให้รู้จักสัมมาคารวะ รู้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสังคม การรู้จักขอโทษและยอมรับผิด เป็นต้น

 

  1. บทบาทของผู้สูงอายุในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่วัยเรียน


การส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่วัยเรียน ทั้งนี้เด็กนอกระบบที่อยู่ในวัยนี้อาจจะได้เรียนหนังสือผ่านศูนย์การเรียน ผ่าน กศน. ฯลฯ  ซึ่งในวัยเรียนนี้จะเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงมีลีลาการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก จึงทำให้ประชากรในวัยนี้มีทั้งเดินทางผิด และเดินทางถูก นอกจากนั้นแล้วยังเป็นวัยที่ต้องให้คนอื่นเข้าใจตนเอง ดังนั้นผู้สูงอายุจึงมีบทบาทในการเข้าใจ สนับสนุนการเรียนรู้ของวัยเรียน นอกจากนั้นแล้วยังเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย โดยบทบาทของผู้สูงอายุมีดังนี้

 

 

  • ผู้นำในการทำกิจกรรม การพาลูก จูงหลานเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม ประเพณีและศาสนา โดยส่วนมากแล้ว ผู้สูงอายุจะเป็นผู้นำของครอบครัวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การพาบุตรหลานเข้าวัด ทำบุญ ก่อเจดีย์ทราย ฯลฯ เนื่องจากธรรมชาติของผู้สูงอายุจะเข้าไปยังศาสนสถาน เช่น วัด โบสถ์ มัสยิด ฯลฯ เพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนา รวมถึงการทำนุบำรุงศาสนาของตนเอง ซึ่งการพาคนในครอบครัวไปทำกิจกรรมดังกล่าว นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้ประชากรวัยเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับผู้สูงอายุในการทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว ยังจะทำให้ประชากรวัยเรียนได้ซึมซับวัฒนธรรม และส่งเสริมการเรียนรู้ที่จะเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนที่ตนเองอยู่ด้วย

 

  • เป็นผู้ให้กำลังใจ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าวัยเรียนเป็นวัยที่ต้องการผู้ที่เข้าใจตนเองเป็นอย่างมาก เช่น เมื่อทำผิดพลาดไป ก็คาดหวังให้ผู้อื่นให้อภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในครอบครัวตนเอง ซึ่งผู้สูงอายุส่วนมากจะเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินชีวิตของประชากรวัยเรียนเป็นหลัก อีกทั้งผู้สูงอายุจะเป็นผู้ที่ใจกว้าง สุขุมเยือกเย็น ในหลายครั้งที่เกิดปัญหาภายในบ้านอันมีสาเหตุมาจากประชากรวัยเรียน ผู้สูงอายุจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้คนในครอบครัวได้พึ่งพาอาศัย และเป็นคนกลางในการเจรจายุติปัญหา เป็นต้น นอกจากให้กำลังใจในการดำเนินชีวิตแล้ว ยังให้กำลังใจในการเรียนด้วย ซึ่งผู้เขียนขอยกเอาคำพูดของตัวละครในนวนิยาย เรื่อง อยู่กับก๋ง มาเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เห็นถึงการให้กำลังใจบุตรหลานที่อยู่ในวัยเรียน ดังนี้ (หยก บูรพา, 2555)

    กรณีตัวอย่าง “อยู่กับก๋ง”“…เรียนไปเถอะ หยก คนจนต้องหาวิชาไว้เลี้ยงตัวเพราะไม่มีเงินทองไว้ให้ใช้สอยโดยไม่ต้องทำงาน ตอนเด็กทุกคนมีหน้าที่เรียน โตแล้วทำงาน…”“…คนมีวิชาติดตัวยากนักที่จะอับจน แพ้คนยาก และไม่เสียเปรียบใครด้วย ถ้าไม่มีวิชาติดตัวเลยจะทำงานสูง ๆ อะไรก็ไม่ได้ ต้องเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ติดอยู่กับดินกับทรายตลอดชีวิต…พยายามเรียนไปเถอะหยก หมดสมองที่จะเรียนเมื่อไรค่อยหยุด…”

  • เป็นผู้ประสานสัมพันธภาพในครอบครัว การศึกษาเรื่องทัศนคติต่อผู้สูงอายุของวัยรุ่นมีผลการวิจัยหนึ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับวัยรุ่น โดยพบว่า วัยรุ่นมีความคิดเห็นว่าการมีบุคคลสูงอายุในครอบครัวทําให้เกิดความอบอุ่นและรักใคร่ปรองดองกัน (ปิ่นนเรศ กาศอุดม และคณะ, 2562) ทั้งนี้หากพิจารณาจากสภาพที่บุคคลรุ่นพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน ไม่มีเวลาเลี้ยงดูบุตรหลาน บ่อยครั้งที่พบเห็นวัยรุ่นและพ่อแม่มีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งผู้สูงอายุในบ้านนี้เองที่จะเป็นกาวประสานใจให้กับคนในครอบครัว นอกจากนั้นในบางพื้นที่ที่ผู้ปกครอง (รุ่นพ่อแม่) ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น ทำให้ในบ้านเหลือแต่ผู้สูงอายุกับหลานที่เป็นวัยรุ่น ที่พึ่งเดียวที่เป็นหลักให้แก่วัยรุ่นคือผู้สูงอายุ (ธีรนันท์ วรรณศิริ และ สมบัติ ประทักษ์กุลวงศา, 2559) บางบ้านให้หลานเรียกผู้สูงอายุว่า พ่อหรือแม่ บางพื้นที่เรียก พ่อจ๋า แม่จ๋า แทน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุเป็นผู้ประสานสัมพันธภาพในครอบครัว และเป็นที่พึ่งเป็นพ่อเป็นแม่แทนพ่อแม่ตัวจริงทำให้ประชากรในวัยเรียนนี้ไม่รู้สึกว่าตนเองมีช่องว่างหรือมีปัญหาการห่างไกลจากผู้ปกครอง

 


ตัดตอนและปรับปรุงจาก ลิขสิทธิ์ พุฒเขียว. (2564). หน่วยที่ 14 บทบาทของผู้สูงอายุในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต. ใน สารีพันธุ์ ศุภวรรณ (บรรณาธิการ), เอกสารการสอนชุดวิชาการเรียนรู้เพื่อชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ. หน่วยที่ 8-15 (น.14-1 -14-50).  สาขาวิชาศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

Related Blogs

Posted by editor | September 14, 2023
รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาจังหวัดราชบุรี
สงวนลิขสิทธิ์ / จัดทํา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ่านและดาวน์โหลด
Posted by editor | July 19, 2023
บทความวิจัย : คุณลักษณะและความต้องการที่หลากหลายของเด็กนอกระบบการศึกษาในประเทศไทย
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจคุณลักษณะของเด็กนอกระบบการศึกษา ตลอดจนวิเคราะห์ความต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงเป้าหมายด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของเด็กนอกระบบการศึกษา ตัวอย่างในการวิจัย คือ เด็กนอกระบบการศึกษาในประเทศไทย จำนวน 35,003 คน ผลการวิจัยพบว่า เด็กนอกระบบการศึกษาส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาในระดับต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่สาม ยิ่งไปกว่านั้นมีเด็กที่ไม่เคยได้รับการศึกษาร้อยละ 10 มีจำนวนสูงกว่าร้อยละ 50 ที่ไม่มี เอกสารแสดงตัวบุคคล ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กนอกระบบการศึกษาคือความยากจนของครอบครัว ผลการวิเคราะห์การสมนัยชี้ให้เห็นว่า เด็กนอกระบบการศึกษามีเป้าหมาย ด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพแตกต่างกันโดยแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจนทั้งด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ 2) กลุ่มที่ต้องการศึกษาต่อ และ 3) กลุ่มที่ ไม่ต้องการศึกษาต่อ...
Posted by editor | July 4, 2023
การจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบโรงเรียนสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา Organizing Non-formal Education Activities for Out-of-School Children
บทคัดย่อ เด็กนอกระบบการศึกษาเป็นเด็กที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาและไม่ได้รับสิทธิในด้านการศึกษา เช่น เด็กพิการในชุมชน เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เด็กไร้สัญชาติและลูกหลาน แรงงานต่างด้าว เด็กยากจนในชุมชน เด็กชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย และเด็กมุสลิมที่เป็นบุตรหลาน ของบุคคลที่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ของประเทศ และในพื้นที่ชายแดน ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ดังนั้นกิจกรรมการศึกษาควรเป็นกิจกรรม การศึกษานอกระบบโรงเรียนที่น่าจะมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับลักษณะและความต้องการจำเป็นของเด็กนอกระบบการศึกษา ทั้งความรู้ขั้นพื้นฐาน การพัฒนาทักษะชีวิต และการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยมีกระบวนการในการจัดกิจกรรม คือ การศึกษาธรรมชาติและลักษณะของเด็ก การวิเคราะห์ ความต้องการจำเป็นและความสนใจพื้นฐานในด้านการศึกษาหรือการเรียนรู้ของเด็ก การจัดกิจกรรม...