การศึกษาปัจจัยสาเหตุของปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบ

การศึกษาปัจจัยสาเหตุของปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบ

การศึกษาปัจจัยสาเหตุของปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบ จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและปัจจัยสาเหตุของปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบในรอบ 10 ปี (2549-2559) และการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเด็กและเยาวชนนอกระบบ สามารถสรุปได้ ดังนี้

  1. อยู่ท่ามกลางพื้นที่เสี่ยงที่เข้าถึงได้ง่าย ดังที่ อมรวิชช์ นาครทรรพ และจุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ (2549) ระบุว่าบริบททางสังคมของโรงเรียนจำนวนมากในต่างจังหวัด มีการก็อปปี้อบายมุขทุกอย่างไปจากกรุงเทพฯ ไปรุกเร้าจิตวิญญาณของเด็ก ทั้งสื่อลามก เหล้า การพนัน ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กจำนวนมากก้าวเข้าไปสู่การดำเนินชีวิตผิด ๆ และอาจตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และยาเสพติดได้โดยง่าย ดังที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ม.ป.ป.) ระบุถึงสาเหตุของเด็กออกกลางคันที่ส่วนหนึ่งมาจากการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และยาเสพติด โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายขอบและจังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หรือลูกแรงงานต่างด้าว ที่มักถูกล่อลวงให้ไปบังคับใช้แรงงาน บังคับค้าประเวณี หรือมีส่วนร่วมในขบวนการยาเสพติด ที่ส่งผลต่ออนาคตของเด็กทั้งทางการเรียนและผลต่อการใช้ชีวิต
  2. เข้าสู่วงจรความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ดังที่ อมรวิชช์ นาครทรรพ และจุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ (2549) ระบุว่า เด็กจำนวนไม่น้อยหลงมัวเมาและคิดว่าการศึกษาไม่มีประโยชน์ เรียนไปก็ไม่สนุก ไม่มีความสามารถไปแข่งขันกับเด็กในเมืองได้ ทำให้เด็กพร้อมที่จะไปกินเหล้า เล่นสนุกเกอร์ ตั้งแก๊งซิ่งแก๊งซ่า มั่วเซ็กส์ เสพยาเสพติด และส่งผลให้เด็กหยุดเรียนหรือต้องออกกลางคันในที่สุด
  3. มีปัญหาในการปรับตัวกับการเรียน เด็กและเยาวชนที่ล้มเหลวจากการเรียน เบื่อหน่ายการเรียน ผลการเรียนอ่อน จนมองว่าตนเองหมดศักดิ์ศรีต่อความสามารถของตนเอง ดังที่ อมรวิชช์ นาครทรรพ (อ้างถึงใน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2554) เรียกเด็กในสภาพดังกล่าวว่าเป็น โรคศักดิ์ศรีบกพร่อง โดยเด็กเหล่านี้หันมาพึ่งพาศักดิ์ศรีจากพฤติกรรมอื่น เช่น ซิ่งรถจักรยานยนต์ ติดเกม สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นต้นทางไปสู่การกระทำความผิดจนบางรายต้องออกจากระบบการศึกษา
  4. มีปัญหาครอบครัว เนื่องมาจากสถาบันครอบครัวอ่อนแอ เด็กและเยาวชนจำนวนมากที่มีปัญหาจากสภาพครอบครัว เช่น ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ขาดความรักความเอาใจใส่ ครอบครัวมีปัญหาทะเลาะวิวาท ติดแอลกอฮอล์และใช้ความรุนแรงเป็นต้น ซึ่ง อมรวิชช์ นาครทรรพ (อ้างถึงใน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2554) เรียกเด็กและเยาวชนที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ว่าเป็นเด็กที่ หัวใจตีบตัน ขาดความรักจากครอบครัวและต้องหาทางออกด้วยการทำพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อแสวงหาความรักจนเป็นเหตุให้กระทำความผิดและต้องออกจากการเรียน
  5. มีปัญหาทางเพศ โดยสมรสแล้วหรือตั้งครรภ์ในวัยเรียน ศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (2555) ได้กล่าวถึง เด็กและเยาวชนหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหามาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศ อนามัยเจริญพันธุ์
  6. เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถเรียนต่อได้ ปัญหาเด็กออกกลางคันจากระบบการศึกษา สาเหตุหนึ่งมาจากการประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยรุนแรงที่ทำให้ต้องขาดเรียนเพื่อรักษาตัวและเสียเวลาในการเรียน บางรายเกิดภาวะทุพลภาพ จนต้องลาออกจากการเรียน (จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์, 2550)
  7. ฐานะยากจน ขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เป็นปัญหาสำคัญมากของประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรในครอบครัวฐานะยากจนเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะพบว่าเด็กและเยาวชนไทยกว่าสองล้านคนทั้งเด็กในระบบและเด็กนอกระบบที่อยู่ในครอบครัวฐานะค่อนข้างยากจนและยากจน โดยเด็กในระบบมีความเสี่ยงที่จะหลุดระบบได้จากปัญหาความยากจน (สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน, 2554) จากการสัมภาษณ์ ธนัญญา หม่อมสาย ครู กศน. กลุ่มเปูาหมายพิเศษ ระบุว่า “บริบทของเด็กกรุงเทพฯ เราอาจเห็นภาพไม่ชัดเท่าเด็กต่างจังหวัด จากที่เคยลงพื้นที่ไปพบเจอมาหลายต่อหลายจังหวัด พบว่าเหตุผลสำคัญของการออกกลางคันหรือไม่ได้เรียนหนังสือก็คือปัญหาความยากจนของครอบครัว แม้ว่ารัฐบาลจะออกนโยบายให้เรียนฟรีก็ตาม แต่เด็กหลาย ๆ คนที่ครอบครัวยากจนมาก รายได้ครอบครัววันละไม่ถึงร้อยบาทก็มี อย่าว่าแต่ค่าใช้จ่ายที่จะมาเรียนหนังสือ แค่เลี้ยงครอบครัวยังลำบาก และไม่ใช่จำนวนน้อยที่เป็นแบบนี้ แต่มีเยอะมากที่เป็นเด็กยากจนและขาดโอกาสจะเรียนหนังสือ” (สัมภาษณ์, 22 พฤษภาคม 2558) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2558) ได้ระบุถึงสาเหตุการออกกลางคันของเด็กอีกประการหนึ่งคือ มีความจำเป็นต้องออกมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ส่งผลให้ต้องการออกจากการศึกษาเพื่อการทำงานหารายได้จุนเจือครอบครัว
  8. คิดว่าเรียนจบระดับใดระดับหนึ่งแล้วไม่จำเป็นต้องเรียนต่อ ดังที่คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (2554) ได้ระบุว่าเด็กจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าการเรียนจบแค่ชั้น ป.6 หรือ ม.3 ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียนต่อ ส่งผลให้มีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่หยุดเรียนไปก่อนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  9. กฎระเบียบของโรงเรียนไม่เอื้อต่อการเรียนของเด็กที่มีปัญหา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (2555) ได้กล่าวถึง เด็กและเยาวชนหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม และระบบโรงเรียนส่วนน้อยที่จะจัดการศึกษาแบบนอกระบบที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้มีโอกาสทางการศึกษา เป็นเหตุให้เด็กและเยาวชนหญิงส่วนใหญ่ที่ตั้งครรภ์ต้องออกจากระบบการศึกษา
  10. กระทำความผิดจนถูกดำเนินคดี ถูกควบคุมดูแลโดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จากสถิติเด็กต้องคดีในสถานพินิจฯ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่าแต่ละปีมีจำนวนกว่าสามหมื่นคน (กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, 2556; 2557; 2558) ซึ่งบางรายยังคงไปเรียนตามปกติ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งของเด็กและเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ตัดสินใจออกกลางคันและเข้ารับการอบรมพัฒนาตนเองที่สถานพินิจ
  11. อพยพตามผู้ปกครอง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2558) ชี้ปัญหาเด็กออกกลางคัน ส่วนหนึ่งมาจากการอพยพย้ายถิ่นตามผู้ปกครอง โดยเฉพาะลูกแรงงานต่างด้าวที่มักเข้าเรียนได้ไม่นานและต้องออกจากการเรียนเนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองต้องย้ายไปทำงานตามแหล่งก่อสร้างใหม่

แหล่งที่มา:

ภัทรา วยาจุต. (2559). การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับเด็กและเยาวชนนอกระบบโดยองค์กรชุมชน. วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.

Related Blogs

Posted by editor | September 14, 2023
รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาจังหวัดราชบุรี
สงวนลิขสิทธิ์ / จัดทํา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ่านและดาวน์โหลด
Posted by editor | July 19, 2023
บทความวิจัย : คุณลักษณะและความต้องการที่หลากหลายของเด็กนอกระบบการศึกษาในประเทศไทย
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจคุณลักษณะของเด็กนอกระบบการศึกษา ตลอดจนวิเคราะห์ความต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงเป้าหมายด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของเด็กนอกระบบการศึกษา ตัวอย่างในการวิจัย คือ เด็กนอกระบบการศึกษาในประเทศไทย จำนวน 35,003 คน ผลการวิจัยพบว่า เด็กนอกระบบการศึกษาส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาในระดับต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่สาม ยิ่งไปกว่านั้นมีเด็กที่ไม่เคยได้รับการศึกษาร้อยละ 10 มีจำนวนสูงกว่าร้อยละ 50 ที่ไม่มี เอกสารแสดงตัวบุคคล ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กนอกระบบการศึกษาคือความยากจนของครอบครัว ผลการวิเคราะห์การสมนัยชี้ให้เห็นว่า เด็กนอกระบบการศึกษามีเป้าหมาย ด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพแตกต่างกันโดยแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจนทั้งด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ 2) กลุ่มที่ต้องการศึกษาต่อ และ 3) กลุ่มที่ ไม่ต้องการศึกษาต่อ...
Posted by editor | July 4, 2023
การจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบโรงเรียนสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา Organizing Non-formal Education Activities for Out-of-School Children
บทคัดย่อ เด็กนอกระบบการศึกษาเป็นเด็กที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาและไม่ได้รับสิทธิในด้านการศึกษา เช่น เด็กพิการในชุมชน เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เด็กไร้สัญชาติและลูกหลาน แรงงานต่างด้าว เด็กยากจนในชุมชน เด็กชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย และเด็กมุสลิมที่เป็นบุตรหลาน ของบุคคลที่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ของประเทศ และในพื้นที่ชายแดน ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ดังนั้นกิจกรรมการศึกษาควรเป็นกิจกรรม การศึกษานอกระบบโรงเรียนที่น่าจะมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับลักษณะและความต้องการจำเป็นของเด็กนอกระบบการศึกษา ทั้งความรู้ขั้นพื้นฐาน การพัฒนาทักษะชีวิต และการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยมีกระบวนการในการจัดกิจกรรม คือ การศึกษาธรรมชาติและลักษณะของเด็ก การวิเคราะห์ ความต้องการจำเป็นและความสนใจพื้นฐานในด้านการศึกษาหรือการเรียนรู้ของเด็ก การจัดกิจกรรม...