Interview: Transforming Education เปิดกะลาการศึกษาไทย ทำยังไงให้เด็กไปไกลกว่าที่เป็น

Interview: Transforming Education เปิดกะลาการศึกษาไทย ทำยังไงให้เด็กไปไกลกว่าที่เป็น

Q: ตั้งแต่เกิดมาชีวิตเด็กหนึ่งคนต้องเผชิญกับการตีกรอบในเรื่องใดบ้าง?

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ: มีทั้งกรอบเรื่องความกลัว กลัวถูกการลงโทษ กลัวเรื่องผี กลัวเรื่องสิ่งเร้นลับ ถูกปลูกฝังมา ถ้าคุณไม่อยากให้เกิดสิ่งไม่ดีขึ้น คุณก็ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ เชื่อฟังพ่อแม่ มันเป็นกรอบที่ถูกวางเอาไว้ว่าคุณเดินตามแนวทางผู้ใหญ่อันนี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตตัวคุณ สำหรับอนาคตคุณ แล้วก็ความปลอดภัยกับสิ่งที่ดี ๆ คุณจะได้รับการตอบแทน กรอบความกลัว กรอบเรื่องของค่านิยมครอบครัว การอบรมเลี้ยงดู วัฒนธรรมประเพณีมันทำให้เด็กไม่กล้าเดินตามลำพัง ไม่กล้าหาประสบการณ์ใหม่ ๆ แล้วก็ระยะหลัง ๆ มา ผมคิดว่าเด็กไทยยิ่งถูกดึงเวลาเรื่องพวกนี้ไปกับเรื่องการเตรียมตัวเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น เด็กมีเวลาเล่นน้อยลง สัมผัสธรรมชาติไม่มากนัก เด็กต้องเรียนพิเศษเพิ่มมากขึ้น เด็กต้องมีของเล่นที่ผสมผสานกับเรื่องของภาษา เรื่องการเตรียมความพร้อมวิชาการต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าเด็กเขาหมดสิทธิในการที่จะกำหนดอนาคตตัวเอง และความต้องการในชีวิตของของวัยเด็กถูกมองข้ามไปหมด สิ่งที่เกิดขึ้นต้องเข้าใจพ่อแม่ทำไมต้องเลี้ยงดูเช่นนี้ ปฏิบัติตามกันมา เราอาจต้องตั้งคำถามเชิงโครงสร้าง ค่านิยม วิถีชีวิตเพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้

Q: แล้วหลังจากที่เด็กเข้าโรงเรียนไปแล้ว กรอบความคิดแบบไหนที่ถูกเติมเข้าไปในตัวเด็กเพิ่มอีกบ้าง?

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ: ตั้งใจเรียนเรียนแล้วจะได้เป็นใหญ่เป็นโต สอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ อันนี้คือความคาดหวังที่เราต้องการให้เด็กเป็น แล้วเมื่อเข้าไปในระบบโรงเรียนสิ่งที่ทำให้เด็กไม่กล้าคิดต่าง คิดแย้ง หรือคิดนอกกรอบที่สร้างสรรค์ คือ ระบบอำนาจนิยมแฝงในโรงเรียนเราจะเห็นลักษณะของการเรียนรู้ที่ผ่านครู วิธีการควบคุมชั้นเรียน การลงโทษ การตี ความมีวินัย เหล่านี้เป็นวิถีชีวิตในระบบโรงเรียนที่กำหนดกรอบให้ว่าคุณเข้าไปในโรงเรียนแล้ว คุณต้องอยู่ในพื้นที่แบบนี้ คุณต้องปฏิบัติตาม คนที่กำกับชีวิต กำกับเส้นทาง กำหนดการเล่น กำหนดเวลาอะไร ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างก็คือระบบการสั่งการ การใช้อำนาจที่ส่งต่อกันเป็นทอด ๆ อันนี้ก็คือกรอบตัวแรกที่เด็กต้องปรับตัว เกิดวัฒนธรรม “ทำตาม” และ “เงียบ”

กรอบตัวที่สองก็คือกรอบระบบหลักสูตรการเรียนรู้และการวัดผล อันนี้เป็นกรอบใหญ่ที่สุด และเป็นกรอบที่ผมคิดว่าตรึงเด็กเอาไว้อย่างแน่นหนา ทำให้เด็กไม่กล้าแหกคอกหรือไม่กล้าคิดต่างในเรื่องต่าง ๆ เพราะว่ามันมันจะถูกตีกรอบด้วยมาตรฐานการเรียนรู้ เด็กต้องเรียนเนื้อหามากมายที่ถูกกำกับด้วยเรื่องการวัดผล ที่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว เราจะเห็นได้จากเวลาที่เด็กวาดรูปจะมีรูปแบบที่แน่นอนตายตัว คือ มีภูเขา 2 ลูก มีต้นมะพร้าว 1 ต้น มีทะเล อะไรเหล่านี้ กรอบนี้ค่อย ๆ ทำลายแรงบันดาลใจ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำให้เด็กคิดเหมือนกันทั้งประเทศ

กรอบที่สามก็คือ เด็กจะต้องพยายามเดินตามผู้ใหญ่ไปตลอด คุณจะดีได้คุณต้องเรียนจนจบ ป.6 ม. 3 ม.6 แล้วก็เข้ามหาวิทยาลัย แต่ถ้าคุณทำไม่ดี คิดเกเร ไม่อยู่ในระบบการศึกษาที่ดี ๆ คุณก็ต้องมีอนาคตที่ไม่ดี ต้องไปเรียนอาชีวะ กลายเป็นเด็กนอกระบบ นี่คือกรอบที่ชี้ชัดเลยว่าเส้นทางชีวิตของเด็ก มันจะต้องเป็นแบบไหน อยู่อย่างไรถึงจะประสบผลสำเร็จ กว่าจะได้เกรด 4 ต้องผ่าน Test อะไรมากมายไปหมด มันทำให้เด็กมีเส้นทางชีวิตที่เป็นลู่เดียวหมด มันไม่มีลู่อื่น ความแตกต่างของเด็ก ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อมันผสมผสานกับตัวค่านิยมของพ่อแม่ผู้ปกครองที่กำหนดเส้นทางชีวิตว่าต้องเป็นแบบนี้ต้องเป็นแบบนี้ ทุกก้าวทุกจังหวะ ทุกวิธีคิดของเด็กจึงถูกกำกับด้วยคำสอนและคำบอกเล่าของพ่อแม่

ทำให้เด็กไทยในระบบการศึกษายิ่งเรียนนานไป แรงบันดาลใจความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความคิดแตกต่าง จินตนาการ มันก็ค่อย ๆ จางลงตามลำดับ

Q: ที่อาจารย์บอกว่ากรอบการเรียนรู้ของเด็กสะท้อนออกมาจากรูปวาดภูเขา 2 ลูก ต้นมะพร้าว และทะเล พอมาเจอกับกรณีเรื่องพระพุทธรูปอุลตร้าแมน คนแต่ละช่วงวัยมีมุมมองต่อคำว่า “การเรียนรู้”ที่แตกต่างกันอย่างไรบ้างในความคิดของอาจารย์?

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ: ผมเพิ่งสอนนิสิตก็คุยกับพวกเขาในประเด็นนี้ นิสิต 20 คน มีประมาณ 18 คนที่คิดว่าอันนี้เป็นศิลปะร่วมสมัย เป็นพุทธศิลป์ที่สร้างสรรค์ มีแค่สองคนที่คิดต่างว่าเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เราต้องเคารพความคิดเห็นต่างทั้ง 2 ฝ่าย มุมมองล้วนแต่เจตนาดีต่อศาสนาพุทธทั้งคู่

ในส่วนตัวมองว่าผู้ใหญ่เวลาที่เรามองนักศึกษา มองผลงานเขา เรามักจะเอาความคิดเอามาตรฐาน แล้วก็สิ่งที่ตัวเองยึดถือไปตัดสินคุณค่าของเด็ก อันนี้ผมคิดว่าเรากำลังสร้างกรอบมาครอบการคิดงานที่ดี ๆ ซึ่งความจริงเป็นงานที่กล้าระเบิดจากภายใน เด็กที่สร้างงานนี้เขาเข้าใจประวัติศาสตร์แล้วโยงเข้ากับโลก สร้างสรรค์งานออกมาเป็นชิ้นงาน ผมมองว่าเด็กมีจินตนาการและสร้างสรรค์ แต่เวลามันออกนอกกรอบมาก ๆ สังคมก็จะตื่นตระหนกขึ้นมาทันที เพราะมันไปขัดแย้งความเชื่อแบบเดิม ชุดความคิดอีกแบบหนึ่งที่อนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ตาม ถ้าศาสนาพุทธเป็นศาสนาของมนุษยชาติ เป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นสิ่งที่สังคมสามารถตั้งคำถามท้าทายได้แล้วก็ตรวจสอบได้ เนี่ยผมว่างานพระพุทธรูปอุลตร้าแมนนี่เป็นตัวอย่างที่ดีในยุคจิตปัญญา พุทธศาสนาเป็นของแท้ที่เป็นคำตอบสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต้องเปิดใจ อิสระ และเรียนรู้ได้ มิใช่ปิด ศาสนานิยม และกลัวการถูกตรวจสอบ

จริง ๆ แล้วเด็กรุ่นนี้เขาไม่ได้คิดแบบคนรุ่นอายุ 50 60 หรือ 70 ถูกไหม? เขาคิดและมีมุมมองและมีศิลปะตามวัยและประสบการณ์และตาม Generation ทำไมเราไปตีคุณค่าเรื่องศิลปะกับเรื่องศาสนาว่ามันต้องเป็นแบบเดียว คนรุ่นอายุมาก ๆ ที่เอากรอบของตัวเองมาตัดสินแบบนี้ ผมคิดว่าไม่ยุติธรรม

ในอีกแง่หนึ่งประเด็นนี้สะท้อนว่าคนรุ่นปัจจุบันสนใจพุทธศาสนามากขึ้น เหมือนเป็นกลอุบายที่มันเป็นสื่อที่มีพลังในการที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ในทางพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้นด้วย เราต้องยอมรับว่าแม้มันจะเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ปัจจุบันก็เริ่มห่างจากวิถีชีวิตของเด็กและคนหนุ่มคนสาวมากขึ้น ผมไปเรียนพุทธศาสนา ส่วนใหญ่กลายเป็นคนเรียนมีอายุประมาณ 50-60 เรียนทั้งนั้น มีเด็กนิสิตเรียนคนเดียว อันนี้เราต้องพิจารณาคิดดูให้ดีนะว่าแล้วทำไมเด็กปฏิเสธการเข้าวัดหรือไปทำบุญ

ในทางกลับกันผมมองว่าเป็นเรื่องการหาเงินแบบพุทธพาณิชย์ ทำไมเราไม่กล้าที่จะตรวจสอบ? ไม่กล้าที่จะย้อนแย้ง? สิ่งนี้น่าเป็นห่วงมากยิ่งกว่าวาดรูปเสียอีก คุณเดินเข้าไปวัดไหนก็ได้ ไปดูว่าวัดเดี๋ยวนี้เป็นพุทธพาณิชย์มากน้อยแค่ไหนแล้ว และมันสมควรหรือไม่ มันตรงกับพระไตรปิฎกตรงไหน? แล้วอะไรที่ทำให้พุทธศาสนาไม่อยู่ในสิ่งที่ควรจะเป็นแก่นแท้ปัจจุบันกันแน่ ใคร่ครวญกันนิดเรื่องรูปแบบพิธีกรรม ศาสนวัตถุ กระพี้ของบาปบุญ หรือการกำหนดสติ ภาวนา สมาธิ เดินจงกรม วิปัสสนากรรมฐาน อะไรสำคัญกว่ากัน เรื่องรูปวาดจึงเป็นประเด็นเล็กมาก

Q: แล้วในมุมมมองของอาจารย์จากประเด็นเรื่องดังกล่าว เราจะให้ความหมายของ Transforming Education อย่างไร?

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ: Transforming Education เป็นลักษณะวิธีคิดที่เป็นสากล เป็นเรื่องของการที่จะทำยังไงให้คนได้รับโอกาสการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน และคนที่ได้รับโอกาสนี้มันจะต้องเป็นคนที่สามารถกำหนดสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนรู้ได้ว่าคืออะไร สามารถเอาไปใช้ประโยชน์กับการดำเนินชีวิต อาชีพ และทำให้เขามีเครื่องมือในการทำให้คุณภาพสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเกิดความยั่งยืนและเป็นประโยชน์ในโลกที่กำลังเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ

ผมคิดว่า Transforming Education มันงอกงามขึ้นมาเพื่อทำให้คนที่อยู่ในโลกนี้เข้าใจคำว่าการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กและเยาวชนว่าคืออะไร ถ้าย้อนมาดูประเทศไทย เรากำลังจัดการการศึกษาอยู่บนความคิดหลักคือเรื่องความอนุรักษ์นิยมบวกกับเรื่องของทุนนิยม มันหลอมรวมและบูรณาการกันผ่านนโยบายการศึกษาของประเทศ เราจะพบคำสำคัญคือเรื่องการเตรียมทรัพยากรมนุษย์สู่ศตวรรษที่ 21 การเตรียมคนเข้าตลาดแรงงาน EEC การสอบคัดเลือก 100% การยุบโรงเรียนขนาดเล็กหรืออะไรต่าง ๆ เราจะเห็นว่าวิธีการคิดและอุดมการณ์ของรัฐกำลังเบี่ยงเบนไปสู่เรื่องของเศรษฐกิจแบบอนุรักษ์นิยม

ในขณะที่ Transforming Education เป็นลักษณะวิธีการคิดแบบ Liberal Education ที่เป็นการจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์เด็กและเยาวชนเป็นหลัก ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเขา การให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม การมองเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้มันกำลังกลายเป็นแนวโน้มสำคัญของทั้งประเทศไทยและของโลก

แต่ประเทศไทยเรากำลังเอียงกระเท่เร่ แล้วมองเด็กและเยาวชนแค่เป็น material อย่างหนึ่งที่ผลิตเด็กเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยที่คุณไม่ได้คิดเลยว่าชีวิตจิตใจเขา รสนิยมเขา สิ่งที่เด็กต้องการคืออะไร เรากำลังยัดเยียดการศึกษาที่ผมคิดว่าเราตัดสินอนาคตของเด็กตั้งแต่วันแรกที่เข้าโรงเรียนแล้วว่าสุดท้ายชีวิตเขาจะอยู่ที่ไหน

เขาไม่มีโอกาสในการดำเนินชีวิต เราไม่เคารพสิทธิของเด็ก เราไม่เคารพเรื่องความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย เรากำลังตัดสินว่าเด็กจะต้องเป็นกลไกของรัฐ เป็นเด็กของรัฐที่เขาจะต้องได้รับการศึกษาแล้วจัดพื้นที่หรือเตรียม Position ให้กับเขาว่าจะต้องอยู่ตรงไหนในสังคมแต่คุณเคยถามเด็กหรือยังว่าเขาต้องการสิ่งเหล่านั้นหรือไม่?

การแสวนาในประเด็น Transforming Education เป็นการส่งเสียงของเด็กและเยาวชน เป็นการเรียกร้องให้รัฐฟังเสียงการศึกษาที่เยาวชนอยากเป็นเจ้าของ เพื่อเส้นทางการศึกษาที่หลากหลาย สมดุล สอดคล้องกับชีวิตพลเมืองวัยเยาว์ เด็กถูกยัดเยียดกรอบหลายชั้นเกินไปแล้ว

Related Blogs

Posted by editor | September 14, 2023
รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาจังหวัดราชบุรี
สงวนลิขสิทธิ์ / จัดทํา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ่านและดาวน์โหลด  
Posted by editor | July 19, 2023
บทความวิจัย : คุณลักษณะและความต้องการที่หลากหลายของเด็กนอกระบบการศึกษาในประเทศไทย
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจคุณลักษณะของเด็กนอกระบบการศึกษา ตลอดจนวิเคราะห์ความต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงเป้าหมายด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของเด็กนอกระบบการศึกษา ตัวอย่างในการวิจัย คือ เด็กนอกระบบการศึกษาในประเทศไทย จำนวน 35,003 คน ผลการวิจัยพบว่า เด็กนอกระบบการศึกษาส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาในระดับต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่สาม ยิ่งไปกว่านั้นมีเด็กที่ไม่เคยได้รับการศึกษาร้อยละ 10 มีจำนวนสูงกว่าร้อยละ 50 ที่ไม่มี เอกสารแสดงตัวบุคคล ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กนอกระบบการศึกษาคือความยากจนของครอบครัว ผลการวิเคราะห์การสมนัยชี้ให้เห็นว่า เด็กนอกระบบการศึกษามีเป้าหมาย ด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพแตกต่างกันโดยแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจนทั้งด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ 2) กลุ่มที่ต้องการศึกษาต่อ และ 3) กลุ่มที่ ไม่ต้องการศึกษาต่อ...
Posted by editor | July 4, 2023
การจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบโรงเรียนสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา Organizing Non-formal Education Activities for Out-of-School Children
บทคัดย่อ เด็กนอกระบบการศึกษาเป็นเด็กที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาและไม่ได้รับสิทธิในด้านการศึกษา เช่น เด็กพิการในชุมชน เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เด็กไร้สัญชาติและลูกหลาน แรงงานต่างด้าว เด็กยากจนในชุมชน เด็กชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย และเด็กมุสลิมที่เป็นบุตรหลาน ของบุคคลที่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ของประเทศ และในพื้นที่ชายแดน ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ดังนั้นกิจกรรมการศึกษาควรเป็นกิจกรรม การศึกษานอกระบบโรงเรียนที่น่าจะมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับลักษณะและความต้องการจำเป็นของเด็กนอกระบบการศึกษา ทั้งความรู้ขั้นพื้นฐาน การพัฒนาทักษะชีวิต และการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยมีกระบวนการในการจัดกิจกรรม คือ การศึกษาธรรมชาติและลักษณะของเด็ก การวิเคราะห์ ความต้องการจำเป็นและความสนใจพื้นฐานในด้านการศึกษาหรือการเรียนรู้ของเด็ก การจัดกิจกรรม...